วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ประวัติความเป็นมา เหรียญโปรยทาน

ADVERTISEMENT

ประวัติความเป็นมา เหรียญโปรยทาน

มาทำความรู้จักคำว่า “การโปรยทาน” กันก่อน ในอดีตเชื่อกันว่าพระพุทธเจ้าทรงสละราชย์สมบัติแล้วออกผนวช โดยไม่ปรารถนาที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงสละเงินทองทรัพย์สมบัติมากมายให้แก่ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน ดังนั้น การโปรยทาน หมายถึง การสละเงินทองทรัพย์สมบัติเป็นทานแก่ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน โดยถือคติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสละราชย์สมบัติออกผนวช การโปรยทานก่อนเข้าโบสถ์เป็นการแสดงว่าต่อจากนี้ไปนาคได้สละสมบัติทุกอย่างแล้ว เพื่อดำเนินชีวิตตามแบบอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนั้น การโปรยทานยังเป็นการสอนคนให้รู้จักเสียสละโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น การโปรยทานนั้นจะมีก็ได้ไม่มีก็ได้ ไม่ใช่ข้อกำหนดตายตัว เนื่องจากไม่ใช่พิธีที่เกี่ยวเนื่องกับการบวช ถึงไม่มีการโปรยทานก็บวชสำเร็จเป็นพระได้เช่นกัน

เหรียญโปรยทาน

ทำเหรียญโปรยทาน

เหรียญโปรยทานทำขึ้นเพื่อใช้ในพิธีต่างๆ หรือเป็นของที่ระลึกสำหรับแจกคนในงาน เช่น งานบวช งานแต่ง และงานศพ เป็นต้น ซึ่งพิธีบวชนาคแต่ก่อนนาคก่อนจะบวชเป็นพระต้องมีการโปรยทานก่อนเข้าโบสถ์ ดังฉะนี้เองจึงมีเหรียญโปรยทานขึ้นมาในรูปแบบการห่อเหรียญด้วยกระดาษสีต่างๆ เพื่อให้เห็นชัดเจน วัสดุที่ใช้ เช่น กระดาษแก้ว ริบบิ้น เป็นต้น ซึ่งแต่ก่อนจะโปรยด้วยเหรียญธรรมดาไม่มีการห่อ เวลาโปรยแล้วผู้รอเก็บจะหาไม่เจอ และเก็บเข้ากระเป๋าสตางค์ทำให้รวมไปกับเหรียญอื่นๆ ได้ จึงต้องมีการห่อเหรียญขึ้นมาครับ

พับเหรียญโปรยทาน ด้วยริบบิ้น
การพับเหรียญโปรยทาน หรือการทำเหรียญโปรยทานจากการห่อด้วยริบบิ้นหลากสีสัน เป็นรูปทรงต่างๆ สำหรับเป็นของที่ระลึกเป็นเหรียญขวัญถุง การประดิษฐ์เหรียญโปรยทาน ได้แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1.เหรียญโปรยทานสำหรับงานอุปสมบท

การประดิษฐ์เหรียญโปรยทานสำหรับงานอุปสมบท สีริบบิ้นที่ใช้ส่วนมากใช้สีเหลืองทอง สีส้ม บางงานมีหลากสีแล้วแต่ชอบ

โปรยทานก่อนนำนาคเข้าโบสถ์ ตามประเพณีนิยม เมื่อแห่นาคไปยังโบสถ์ เวียนโบสถ์สามรอบพร้อมด้วยเครื่องอัฏฐบริขารที่ใช้ในการบวช และของที่ถวายพระส่วนเครื่องอัฏฐบริขารและของถวายพระ จะนำไปตั้งในโบสถ์ก่อนการวันทาสีมา นาคจะจุดธูปเทียน ที่เสมาหน้าโบสถ์แล้วนั่งคุกเข้าประนมมือกล่าวคำวันทาสา แล้วกราบ ปักดอกไม้ธูปเทียน ณ ที่จัดไว้ นำนาคมาที่หน้าโบสถ์ ‘นาคจะโปรยทาน’ เสร็จแล้วจะจูงนาคเข้าโบสถ์โดยบิดาจูงมือข้างขวา มารดาจูงมือข้างซ้าย พวกญาติคอยจับชายผ้าตามส่งข้างหลัง เมื่อพ้นประตูแล้วให้เดินตรงไปที่พระประธานประกอบพิธีต่อไป

2.เหรียญโปรยทานสำหรับงานมงคลสมรส

การประดิษฐ์เหรียญโปรยทานสำหรับงานมงคลสมรส สีริบบิ้นที่ใช้ส่วนมากใช้สีสดใสเย็นตา สีหวาน เช่น ชมพู สีแดง สีฟ้า และสีอื่นๆ

จากคำว่าเหรียญโปรยทาน เรียกว่า ซองมงคล เพื่อใช้เหมาะกับงานมงคลสมรสจะใช้ตอนกั้นประตู เดิมทีเพื่อความสนุก แต่ภายหลังแทบจะเป็นองค์ประกอบหลักของงานแต่งงาน การกั้นประตู คือการขวางทางขบวนขันหมากฝ่ายเจ้าบ่าวไว้ เมื่อเคลื่อนเข้ามาในเขตบ้านเจ้าสาว โดยใช้คนสองคนถือ สร้อยเงิน สร้อยทอง กั้นประตูไว้ หากไม่มอบของกำนัลให้ก็จะไม่ยอมให้ผ่านเข้าไปได้ ในแต่ละประตูเถ้าแก่ของเจ้าบ่าว จะต้องเจรจาเพื่อมอบซองมงคลก่อนจะผ่านประตูไปได้

3.เหรียญโปรยทานสำหรับงานศพ

การประดิษฐ์เหรียญโปรยทานสำหรับงานศพ สีริบบิ้นที่ใช้ส่วนมากเป็นสีขาว สีดำ

ตามความเชื่อที่มาแต่โบราณ ว่าเมื่อคนในครอบครัวล่วงลับไป หลังจากงานเผาศพ ลูกหลานไม่อยากให้วิญญาณ เป็นวิญญาณที่เร่ร่อน ก็บอกเจ้าที่ เจ้าทาง ขอให้ดวงวิญญาณไปสถิตที่บ้าน โดยการโปรยทานเพื่อเป็นการซื้อทาง ให้ดวงวิญญาณผ่านไปได้ไม่ติดขัด แขกที่ไปร่วมงานที่เก็บเหรียญได้ จะนำไปทำบุญต่อเพื่ออุทิศบุญกุศลให้ผู้ล่วงลับ และก็จะได้บุญกุศลนี้ไปด้วย

ADVERTISEMENT